
พิษตะกั่วที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ?!?
Updated: Nov 12, 2018
เคยสงสัยหรือไม่ว่ามนุษย์เราได้รับสารพิษอย่างตะกั่วกันมานานเท่าไรแล้ว? ฟอสซิลนีแอนเดอร์ทัลแสดงให้เห็นว่ามนุษย์อาจได้รับสารตะกั่วมานานกว่าที่เราคิด

หลายคนคงคิดว่าเราเริ่มได้เจอกับสารพิษอย่างตะกั่วหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน ช่วงที่เราเริ่มนำแร่ธาตุมาถลุงและใช้งานกันในปริมาณมาก แต่ความเป็นจริงแล้ว มีประวัติศาสตร์บันทึกว่ามนุษย์นำตะกั่วมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น โรมันใช้น้ำตาลตะกั่วเป็นเครื่องปรุง และใช้ตะกั่วทำภาชนะใส่เครื่องดื่มและท่อประปาส่งน้ำ ชาวอิยิปต์ใช้สารประกอบตะกั่วในเครื่องสำอาง ชาวยุโรปใช้สารตะกั่วเป็นองค์ประกอบในสีวาดภาพ มนุษย์เรามีประวัติการใช้สารตะกั่วมาอย่างยาวนาน
แต่หลักฐานการค้นพบใหม่บ่งบอกว่า มนุษยชาติอาจเผชิญกับพิษตะกั่วมายาวนานกว่านั้นมาก อาจย้อนเวลาไปนานถึง 250,000 ปีก่อน ในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีอารยธรรม ในยุคที่ญาติของเราที่ชื่อ นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) ยังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้
ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์โบราณเป็นหัวข้อที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจอยู่เสมอ เราอยากรู้ว่าญาติของพวกเราที่ชื่อนีแอนเดอร์ทัลนั้นดำรงชีวิตกันอย่างไร กินอะไร อยู่กันอย่างไร ตายเพราะอะไร
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้นำฟอสซิลของนีแอนเดอร์ทัลที่พบในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสมาศึกษา โดยเลือกศึกษาชิ้นส่วนฟันของเด็กชาวนีแอนเดอร์ทัลสองคน
ฟันของทารกและเด็กจะสร้างเนื้อฟันทุกวันอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดชั้นของเนื้อฟันซ้อนกันคล้ายกับวงปีของต้นไม้ เป็นเหมือนสมุดบันทึกสุขภาพรายวัน เมื่อกินอาหาร ดื่มน้ำ หรือหายใจเอาแร่ธาตุเข้าไปในร่างกาย สารเหล่านั้นจะสะสมในชั้นของเนื้อฟัน ฟอสซิลของฟันจึงบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร สภาพอากาศ และปริมาณสารพิษที่เจอในยุคนั้นได้

ด้วยข้อมูลจากลักษณะของชั้นของฟัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ระบุได้ว่าเด็กนีแอนเดอร์ทัลน่าจะเกิดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และหย่านมหรือเริ่มกินอาหารทั่วไปเมื่ออายุประมาณ 2.5 ปี ในฤดูใบไม้ร่วง ในระหว่างนั้นทารกได้รับตะกั่วในปริมาณมากถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 2 เดือน ครั้งที่สองเมื่ออายุประมาณ 2 ปี
สิ่งที่น่าสนใจคือการได้รับสารตะกั่วแต่ละครั้งเกิดในช่วงฤดูหนาว โดยได้รับต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าสารตะกั่วอาจมาจากแหล่งน้ำ อาหาร หรือแม้แต่ควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีตะกั่ว แต่น้ำนมแม่น่าจะไม่ใช่แหล่งที่มาหลักของตะกั่วที่ทารกได้รับ อาจด้วยความจำเป็นหรือข้อจำกัดบางอย่างที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวที่ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทารกต้องรับเอาสิ่งที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเข้าไปในร่างกาย
ผลจากตะกั่วทำให้การพัฒนาชั้นฟันช้าลงเล็กน้อย แต่ยังไม่พบผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกายของทารกนีแอนเดอร์ทัลอย่างเห็นได้ชัด แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิต สภาพความเป็นอยู่ รวมทั้งรับสารพิษยุคโบราณที่บรรพบุรุษมนุษย์ต้องเผชิญ อาจเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการเกี่ยวกับตอบสนองต่อสารตะกั่วในร่างกายของมนุษย์เราในปัจจุบันก็เป็นได้
อ้างอิง:
http://advances.sciencemag.org/content/4/10/eaau9483